
สำหรับชื่อถนนนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานชื่อ "ถนนจอมสุรางค์ยาตร" และ ทรงเปิดถนนเส้นนี้ เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองนครราชสีมา และ พิมาย เมื่อ ปี พ.ศ. 2456
จุดเริ่มต้นของถนนจอมสุรางค์ยาตร เริ่มจาก ถนนราชดำเนิน ตัดผ่าน ถนนบัวรอง ถนนโยธาและ ถนนเทศบาลไปตามทิศตะวันตก แล้วเลียบทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงระหว่าง สถานีรถไฟนครราชสีมาและ สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ บริเวณด้านหลังสำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา ไปบรรจบกับ ถนนโพธิ์กลาง และ ถนนสุรนารี
ถนนจอมสุรางค์ยาตร เป็นถนนเส้นที่ 3 จากบริเวณแยกที่ถนนจำนวน 5 สายมาบรรจบกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ห้าแยกหัวรถไฟ
สถานที่ราชการและสถานที่สำคัญบนถนนจอมสุรางค์ยาตร ได้แก่ สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา (ด้านหลัง) สำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมา วัดแจ้งนอก โรงเรียนสุขานารี (ด้านหลัง) โรงแรมเจ้าพระยาอินน์ ที่ทำการไปรษณีย์จอมสุรางค์ สำนักงานบริการลูกค้า กสท.นครราชสีมา บมจ.กสท.โทรคมนาคม ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


